เรื่องของกีฬาขี่ม้า

การขี่ม้าถือเป็นกีฬาที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับการทหารในอดีต ซึ่งใช้ม้าเป็นพาหนะในการรบพุ่งกัน ส่วนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์นั้น การแข่งม้าได้รับการบรรจุตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 แต่ก็มีการห่างหายไปอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงกลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1912 ที่กรุงสตอกโฮล์ม และมีการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งการแข่งศิลปะการบังคับม้า (Dressage) การขี่ม้าข้ามภูมิประเทศ (Cross Country) และการกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง (Show Jumping)
กีฬาขี่ม้า
กีฬาขี่ม้า
กีฬาแข่งม้าถือเป็นกีฬาแห่งความเท่าเทียมกัน เนื่องจากเป็นอีกประเภทกีฬาหนึ่งที่ไม่มีการแบ่งแยกเพศของนักกีฬา ผู้หญิงและผู้ชายจะทำการแข่งขันในรายการเดียวกัน และในประเภททีมก็ไม่มีการกำหนดโควตาว่าจะต้องมีผู้หญิงหรือผู้ชายเท่าไร อีกทั้งเป็นอีกประเภทกีฬาที่นักกีฬามีอายุการใช้งานสูง สามารถแข่งได้จนถึงอายุมากๆ ดังเช่น ในลอนดอนเกมส์ที่ผ่านมา นักกีฬาที่มีอายุมากที่สุดก็คือ ฮิโรชิ โฮเคทซึ ในวัย 71 ปี (ตอนนี้เป็นอันดับที่ 3 ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก และจะขึ้นเป็นอันดับ 1 หากคุณปู่ลงแข่งที่บราซิลได้) นอกจากนี้ม้ายังเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ได้รับการนำมาแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งได้รับการให้เกียรติเสมือนเป็นนักกีฬาเลยทีเดียว โดยมีการประกาศชื่อเช่นเดียวกันกับผู้ขี่ และมอบรางวัลให้กับม้าด้วย
กีฬาขี่ม้า
กีฬาขี่ม้า

ตกม้าตาย…มีอยู่จริง

ตกม้าตาย” ไม่ใช่เป็นแค่สำนวนไทยแต่เป็นเหตุการณ์อันเศร้าที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะม้าแข่งที่โตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวมากกว่า 500 กิโลกรัม วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และศีรษะของผู้ขี่จะอยู่สูงจากพื้น 3-4 เมตรเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วแรกกระแทกที่เกิดขึ้นย่อมมีมหาศาล โดยส่วนใหญ่การเสียชีวิตจากการแข่งม้ามักเกิดจากการตกม้าและเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ
ตกม้าตาย
เมื่อหลายปีก่อนผมได้มีโอกาสไปเอเซียนเกมส์ที่ประเทศกาตาร์ ข่าวเศร้าที่สุดก็คือ การที่มีนักกีฬาขี่ม้าชาวเกาหลี คิม ฮยองชิล ตกม้าขณะกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง แล้วตัวม้าล้มลงมาทับบริเวณศีรษะ ทำให้เขาเสียชีวิตในที่สุด ทั้งที่นักกีฬาก็เป็นคนที่มีประสบการณ์การแข่งขันระดับนานาชาติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่อุบัติเหตุก็คืออุบัติเหตุ หรือจะบอกว่า เมื่อความซวยทุกอย่างมารวมกันอะไรก็เกิดขึ้นได้
ตกม้า

บาดเจ็บเพราะอะไร

การบาดเจ็บจากการขี่ม้าส่วนใหญ่เกิดจากการตกม้า เหมือนกับคนที่ขี่จักรยานก็ย่อมมีการล้มเป็นธรรมดา แต่ก็มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการบาดเจ็บจากการถูกม้าดีด หรือกระแทกล้มขณะที่ไม่ได้ขี่ ซึ่งอาจเป็นตอนที่ดูแลม้า ให้อาหาร แปรงขน จูงเดิน เป็นต้น ตัวเลขอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บมีความหลากหลายตั้งแต่ 0.4 – 14 ของการบาดเจ็บต่อ 1,000 ชั่วโมงของการขี่ โดยส่วนใหญ่เกิดการบาดเจ็บกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ตกม้า
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุกีฬาขี่ม้านั้นเรียกได้ว่าเกิดขึ้นได้กับทุกส่วน เหมือนกับอุบัติเหตุจากการขับรถเลยทีเดียว แต่ส่วนที่เกิดได้บ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ศีรษะ หลัง และไหล่ ความรุนแรงของการบาดเจ็บส่วนใหญ่มักเป็นเพียงการฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แต่ในบางครั้งก็อาจถึงขั้นกระดูกหักหรือข้อเคลื่อนหลุดได้เหมือนกัน

ขี่ม้าอย่าลืมใส่หมวก

เนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะเกิดขึ้นได้บ่อยและอาจเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ การป้องกันที่สำคัญที่สุดก็คือ การใส่หมวกที่มีดีไซน์เฉพาะสำหรับการขี่ม้า ส่วนพระเอกนางเอกละครที่จะไม่ใส่หมวกก็ปล่อยเขาเสี่ยงกันไปเถอะครับ
ขี่ม้า

ขี่ม้าเสื้อผ้า – หน้าผมเรื่องสำคัญ

เนื่องจากกีฬาขี่ม้ามีกำเนิดมาจากชาติตะวันตกซึ่งเป็นเมืองหนาว จึงไม่แปลกที่การแต่งกายจะค่อนข้างมิดชิด แต่ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ การป้องกันแขนขาจากการเกิดบาดแผลถลอก หรือแผลฉีกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขี่ม้าข้ามภูมิประเทศ ซึ่งอาจถูกกิ่งไม้เกี่ยวจนเกิดบาดแผลได้ เช่นเดียวกับผมเผ้าของคุณผู้หญิงก็ต้องรวบให้ดีด้วยเหตุนี้เอง
ขี่ม้า
รองเท้าบู๊ตสำหรับการขี่ม้ามีหลายแบบ ถ้าเป็นแบบยาวก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บในส่วนกระดูกแข้งด้วย ควรใช้รองเท้าแบบที่ดีไซน์มาสำหรับการขี่ม้า และระหว่างขี่ก็ควรสอดเฉพาะส่วนปลายเท้าเข้าไปในโกลน (ห่วงที่ห้อยลงมาจากอานม้าทั้งสองข้างสำหรับสอดเท้ายันในเวลาขี่) เพราะถ้าเกิดการตกม้าแล้วเท้าติดอยู่กับโกลนก็จะทำให้ถูกม้าลากไป และมีการบาเจ็บมากขึ้นได้อีก

อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน

ไม่มีม้าตัวใดที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ม้าที่ได้รับการฝึกมาอย่าดีก็อาจมีความปลอดภัยมากกว่าแต่ก็ยังไม่เต็มร้อย เพราะม้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์เหมือนกับคนเรานั่นแหละครับ ถ้าวันไหนที่อารมณ์ไม่ดีก็อาจเป็นอันตรายกับผู้ขี่ได้ ดังนั้นผู้ขี่ซึ่งก็เป็นคนรักม้าอยู่แล้วย่อมต้องให้ความรักกับม้าและหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของม้าเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่นะครับ

0 Comments